Footer


ทุ่งนา Artๆ สไตล์ญี่ปุ่น กับความแตกต่าง ของชีวิตชาวนาไทย


Paddy Art In Inakadate
Paddy Art In Japan
Rice Field Art In Japan

ทุ่งนาสไตล์ญี่ปุ่น ศิลปะในทุ่งนา เป็นทุ่งนาที่ชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทุกที่ ในประเทศญี่ปุ่น เป็นผลงานของชาวหมู่บ้าน อาโอโมริของ Inakadate ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านศิลปะการเกษตร จิตรกรสร้างภาพจิตรกรรมบนฝาผนัง  แต่ศิลปินชาวนาพวกเค้าสร้างสรรผลงานโดยการปลูกข้าว เห็นแล้วก็อิจฉาประเทศญี่ปุ่นครับ ที่มีพร้อมไปซะทุกด้าน แต่ก็ภูมิใจครับที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย มาเป็นลูกของ "ลูกของพ่อหลวง"
Paddy Art
Crop Art
Rice Paddy Art
Inakadate
Rice Paddy Art In Japan
Rice Paddy Art In Japan
Rice Paddy Art Work


ทีนี้เรามาดูภาพชีวิต : และความจริงของชาวนาไทยกันบ้าง ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องทนทุกข์แบบนี้ไปอีกสักกี่ 1000 ปี
        “กระดูกสันหลังของชาติ”
        วลีข้างต้นใช้กับชาวนาไทย ที่ชีวิตของพวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการประกอบอาชีพของตนเอง ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน ราคาข้าวตกต่ำ พ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อข้าวจากชาวนา รวมถึง ธรรมชาติที่แปรปรวน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาวนาไทยมานักต่อนัก
        ณ บ้านเพราม ต.ใหม่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ต้องวนเวียนอยู่กับธรรมชาติที่ปรวนแปร ทั้งภัยแล้งและอุทกภัย

        สภาพใบหน้าที่อิดโรยของลุงมา สำเนากลาง บ่งบอกถึงความทุกข์ ซึ่งแววตาแสดงถึงความสิ้นหวัง ลุงมาได้เอ่ยกับผมว่า...........
        “ฉันทำนามา 50 ไร่ กู้เงินสหกรณ์มา 50,000 บาท เป็นค่าใช้จ่าย เมื่อวันก่อนเห็นข้าวออกรวงเป็นสีทอง ไอ้ฉันก็ดีใจที่ปีนี้จะได้ปลดหนี้ซะที ดูๆ ไปแล้วข้าวคงจะได้เยอะกว่าทุกปี”
        เช้าวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ฝันของลุงมาสลายไปกับสายน้ำ ซึ่งไหลบ่าท่วมท้นเหนือรวงข้าวในท้องนาของเขา ลุงมาได้แต่นั่งกอดเข่ามองน้ำที่เต็มท้องทุ่ง พร้อมกับเอ่ยอย่างปลงตกว่า........
        “เห็นอย่างนี้ ฉันก็ไม่รู้จะทำยังไงถึงจะเกี่ยวข้าวได้ แค่ได้ไว้กินก็บุญหลายแล้ว และทีนี้ ฉันจะหาเงินจากที่ไหนมาใช้หนี้เขาล่ะเนี่ย??”

        ป้าลอย ตีกลาง น้าเฉลียว สามกำปัง และพี่เสาวนีย์ เกตกลาง เป็นอีกสามคนที่รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่นาในครั้งนี้ ทั้งสามได้ถ่ายทอดถึงความทุกข์ใจให้ผมฟังว่า.......
        “เมือสองวันก่อน ทางอำเภอได้มาบอกให้คนในหมู่บ้านลงภัยน้ำท่วม (ลงชื่อกับ ธ.ก.ส.เพื่อรับค่าเสียหายจากน้ำท่วม) แต่ไม่มีใครไปลง และไม่มีใครคิดว่าอยู่ๆ น้ำก็ท่วมที่นา ตอนนั้นฉันเห็นอยู่ว่าข้าวจะเกี่ยวได้อยู่แล้ว ไม่เคยมีน้ำท่วมตอนจะเกี่ยวข้าวมาก่อนเลยด้วย”
        “ไม่รู้เป็นเวรเป็นกรรมอะไร ทำนาอยู่ทุกปีก็ไม่เคยหมดหนี้ หนำซ้ำตอนนี้น้ำยังท่วมข้าวอีก และไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้าวที่จมน้ำไว้พอกินหรือเปล่า??” ป้าลอยเสริม

        ภาพเบื้องหน้า ป้าลอยถือกะละมังลงไปในนาข้าวที่มีระดับน้ำเลยช่วงเอว พร้อมกับก้มหน้าก้มตาเกี่ยวข้าว สักพักเมื่อข้าวเต็มกะละมัง ป้าลอยนำมาวางไว้ริมคันนา ด้วยร่างกายอันสั่นเทา เหตุเพราะช่วงนี้ อากาศหนาวเริ่มมาเยือน
        ขณะที่ป้าฑูรย์ - ศิริพร อาชญาทา กลับจากไปดูที่นาของตนเองด้วยใบหน้าหมองเศร้า ป้าฑูรย์นั่งลงบนพื้นอย่างเหนื่อยล้า พร้อมกับเอ่ยว่า......
        “ถึงป้าจะทำนาไม่มาก เพราะตอนนี้ก็เป็นเบาหวาน แต่ป้าก็ตั้งใจเต็มที่ ตอนหว่านกล้า ป้าก็จะมานั่งถอนหญ้าทุกวัน ช่วงน้ำแล้งก็เสียค่าสูบน้ำเลี้ยงต้นข้าว พอป้าจะเกี่ยว น้ำก็ท่วมอีก อย่างปีที่แล้วน้ำก็ท่วมตอนที่ข้าวกำลังตั้งท้อง แล้วไม่ได้อะไรเลย ทีแรกก็ว่าจะไม่ทำ และเอาเงินที่ลงทุนทำนาไปซื้อข้าวกินดีกว่า พอเห็นฝนตกลงมา ป้าก็ให้รถไถไปไถตรงที่นา อาจจะมีความสุขบ้างที่ได้ทำงานที่เราชอบ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเครียด เพราะป้าตั้งใจมาก”
        เมื่อผมฟังถึงตรงนี้ จึงได้แต่ปลอบใจป้าฑูรย์ว่า.....
        “อย่าคิดอะไรมากเลยครับ เดี๋ยวน้ำตาลจะขึ้น (เป็นคำเรียกอาการของโรคเบาหวาน)”

        เมื่อผมเห็นความยากลำบากของคนที่เป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” ในใจได้แต่คิดว่า เมื่อใหร่ อาชีพเกษตรกรรมอันเก่าแก่ ตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษของเรา จะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแก้ปัญหาอย่างถูกจุดตรงต้นเหตุอย่างเป็นระบบ โดยมิใช่ที่ปลายแบบขอไปทีอย่างเช่นในปัจจุบัน
        สำหรับสาเหตุน้ำท่วมนา น้าเฉลียวและพี่เสาวนีย์ได้บอกตรงกันว่า.........
        “น้ำเขาปล่อยออกมาจากทางอำเภอด่านขุนทดและโนนไทย ที่นาแถวนี้จึงเป็นที่รับน้ำ ข้าวก็เลยจมอย่างที่เห็น หรือนาของชาวบ้านใกล้ๆกับฝายลำเชียงไกร ที่รับน้ำมาจากเขื่อนลำตะคอง ฉันสังเกตว่า สามปีมานี้ น้ำจะท่วมเฉพาะแถวๆนี้ ฉันลงทุนทั้งแรงกาย และแรงเงินในที่นา แต่ต้องพบกับความผิดหวังซ้ำๆซากๆ”

        น้าเฉลียวยังเสริมอีกว่า.........
        “ฉันทำนา 11 ไร่ ตอนแรกลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ ค่าไถนา เมื่อฝนแล้งก็ต้องลงทุนสูบน้ำเข้านาและซื้อปุ๋ยใส่เพิ่มเติม พอเห็นข้าวออกรวง ฉันรู้สึกดีใจมาก เดินมาดูทุกวัน คิดในใจว่าอีกวันสองวันถึงลงมือเกี่ยวข้าว มาดูตอนเช้าอีกที เห็นน้ำปริ่มข้าวซะแล้ว ฉันจึงต้องรีบเก็บเกี่ยวก่อนที่ข้าวจะเน่าหมด”
        หากข้าวจมน้ำราวๆ 4 วัน จะเน่าเสีย ถึงแม้จะเก็บเกี่ยวแล้วนำไปจำหน่าย ก็จะขายได้ราคาไม่มากนัก เป็นเพราะข้าวอับชื้นนั่นเอง

        ส่วนบางคนเห็นข้าวอยู่ในจานมักจะไม่รู้คุณค่า รวมทั้งกรรมวิธีการผลิต ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นข้าวสวยอยู่ในจานเช่นนี้ ต้องผ่านความยากลำบากเพียงใด ขณะที่บางคนประกอบอาชีพทำนาแท้ๆ กลับต้องซื้อข้าวมารับประทาน แทนที่จะนำข้าวที่ตนเองปลูกมาหุงหาทานกันเอง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถควบคุมธรรมชาติให้เป็นดั่งใจต้องการ หากกำหนดได้ พวกเขาคงจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ คงไม่ต้องให้บรรดาลูกหลานออกไปทำงานต่างถิ่น และได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัวเหมือนกับครั้งอดีต

        จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ชาวนาไทยถึงลืมตาอ้าปากไม่ได้ ทั้งๆที่พวกเขามิได้เกียจคร้าน ถึงแม้ฝนจะตก แดดจะออก พวกเขายังเดินก้มหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินทำนากันต่อไป ในโคราชส่วนใหญ่ทำนากันปีละครั้งเท่านั้น หากฝนไม่ตกตามฤดูกาลราวๆ สองหรือสามสัปดาห์ น้ำในนาจะแห้งขอด อีกทั้งแหล่งกักเก็บน้ำมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ
        ทางส่วนราชการเคยแนะนำให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน แต่ทว่า......... ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าควรปลูกพืชชนิดใดทดแทน อีกทั้งยังเกรงว่า เมื่อพวกเขาลงทุนไปแล้ว กลับมีหนี้สินพอกพูนขึ้นมาอีกคำรบ

        คุณวิชัย ซุ่นกลาง ผู้ใหญ่บ้านเพราม เป็นอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีที่นาประสบปัญหาอุทกภัยเช่นเดียวกัน เขาได้บอกกับผมว่า.......
        “ทางส่วนราชการทำภัยน้ำท่วมไร่ละ 600 กว่าบาท แต่ตอนที่มาทำ น้ำยังท่วมไม่มาก หลังจากนั้นน้ำท่วมที่นาของชาวบ้านกันถ้วนหน้า และพบกับความเดือดร้อนทุกครัวเรือน ฉันอยากฝากให้ทางส่วนราชการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาแจก และปุ๋ยราคาถูกมาขาย เพื่อให้พวกชาวบ้านได้ทำนาในปีต่อไป”
        “ทำนาลำบากและขาดทุนอยู่ทุกปี ยังคิดจะทำอีกหรือครับ” ผมเอ่ยถามถึงสิ่งที่ยังค้างคาใจ
        “ปู่ ย่า ตา ยายของฉันทำนา ฉันก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำ แล้วจะให้ไปทำอะไรล่ะ?? ถึงรู้ว่าลำบาก และเสี่ยงกับการขาดทุน ยังไงก็ต้องทำ ถ้าถึงเวลาที่เขาทำนา คนอื่นเขาทำกันหมด แล้วเราจะอยู่เฉยๆ ได้ยังไง” ผู้ใหญ่วิชัยเอ่ยอย่างหนักแน่น
        นี่คือภาพชีวิตของชาวนาอีสาน ที่รัฐบาลหลายชุดไม่สามารถบรรเทาปัญหานี้ให้เบาบางลงได้

        เมื่อผมมองไปที่ท้องนา ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำ ความรู้สึกเสียดายเกิดขึ้นภายในใจ ซึ่งระยะเวลาราวๆ 3 - 4 สัปดาห์หลังจากนี้ น้ำที่ท่วมอยู่ก็จะแห้งขอดไป โดยไม่ก่อเกิดประโยชน์อันใดขึ้นมา ทั้งๆที่ น้ำจำนวนนี้สามารถนำไปใช้ในการเพาะปลูกพืชชนิดอื่น แต่ก็สะดุดปัญหาตรงไม่มีที่กักเก็บไว้ใช้ในยามฝนทิ้งช่วง ถึงเวลานั้นชาวบ้านต้องมาแย่งสูบน้ำเช่นเดิม หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขปัญหาส่วนนี้ คงเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดทีเดียว
        ดีกว่านำเงินมาแจกจ่ายให้ชาวนา แบบไม่คุ้มค่ากับความเสียหายในทุกๆปี

ขอขอบคุณเพลง หำเฮี้ยน ของน้าแอ๊ด คาราบาว ที่เข้ากับบรรยากาศมาก

 
และขอขอบคุณ http://autis-mann.exteen.com/20081114/entry  ที่เอื้อเฝื้อข้อมูลชาวนาไทย

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ10 ตุลาคม 2553 เวลา 22:49

    T_T น้ำตาจะไหลก็ตรงเพลงที่ขึ้นมานี่แหละ แง แง แง

    ตอบลบ
  2. พี่ผู้ร้าย .. แตงฟ้องพี่มนเรื่องเสื้อแขนยาวแล้วด้วย 555+ พี่มนหัวเราะน้ำตาไหลเลย ระวังตัวด้วยนะ พี่มนแกว่าจะโทรไปจัดการ อิอิ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ28 ตุลาคม 2553 เวลา 23:31

    น้ำตาจะไหลจริงๆค่ะ เห็นแล้วอดสงสารไม่ได้ มีเพื่อนอยู่ลำปลายมาด เลี้ยงหมูอยู่ไม่รู้เป็นไงบ้าง เป็นห่วงเพื่อนมากเลย

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ18 กรกฎาคม 2554 เวลา 17:57

    ข้าวไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ชาวนาไทยเป็นอาชีพที่จนที่สุดของประเทศ
    >>ช่ายม่ะคุงผู้ร้าย อะจิ อะจิ

    ตอบลบ